คลังความรู้
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
กลุ่ม
มิถุนา........... กลับมาแล้ว
มิถุนา........... กลับมาแล้ว
วันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกินรู้สึกว่าได้ปรารภถึงเดือนมิถุนายนของปีที่แล้วไปไม่นาน นี่ก็ย่างเข้าเดือนมิถุนายนอีกแล้ว เมื่อปีก่อนเคยเป็นห่วงว่าฝนจะน้อยแล้วแล้งจะมาเยือน แต่ปีนี้ไม่เป็นห่วงแล้ว เพราะฟังจากการพยากรณ์ของหลายสำนัก ได้ความว่าปีนี้ฝนจะมามากกว่าค่าเฉลี่ยถึงประมาณ 10 % กว่าๆ แต่ละภาคจะได้รับฝนเพิ่มขึ้นแตกต่างกันออกไปแต่ก็คงประมาณนั้น ทั้งนี้อธิบายว่าอิทธิพลของลานีญา ที่จะเบาบางลงไปกลับแสดงอาการว่ายังไม่ไปไหน จึงเป็นการเสริมปริมาณฝนของฤดูฝนให้เพิ่มขึ้นแตกต่างจากปีก่อน ประกอบกับลมประจำต่างๆและหย่อมความกดอากาศก็เอื้อต่อการเพิ่มปริมาณฝนให้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามฝนก็ไม่ได้ตกทั่วฟ้า บางพื้นที่ฝนตกถี่ บางพื้นที่ก็ขาดฝนแม้จะเป็นฤดูฝนก็ตาม ดังนั้นจึงควรที่จะระมัดระวังการใช้น้ำอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่มีความแห้งแล้งอยู่เป็นประจำ
มีการบอกกล่าวกันว่าปีนี้ฝนจะมากตอนต้นฤดูและมาก่อนเวลา ดังที่เห็นแล้วว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม มีฝนอยู่เกือบไม่ได้หยุด ในภาพรวมทั่วไปเป็นฝนที่เกิดเพราะพายุฤดูร้อนกระจายไปทั่วโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วก็เกิดต่อเนื่องเรื่อยมาไม่ได้หยุดจนสิ้นเดือนพฤษภาคมต่อเป็นฤดูฝนเต็มตัวของเดือนมิถุนายน นับว่าช่วยบรรเทาความร้อนและความแห้งแล้งของพืชพันธุ์ไม้ไปได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีการเตือนกันว่าปลายมิถุนายนต่อต้นกรกฎาคมฝนจะทิ้งช่วง โดยที่ปริมาณฝนจะไม่น้อยไปกว่าค่าเฉลี่ยปกติ แล้วยังเตือนอีกว่าช่วงปลายฤดูฝนจะมากที่เดียว ดีไม่ดีอาจเกิดอุทกภัยขึ้นได้ในหลายพื้นที่เสี่ยง ขอให้มีการเตรียมรับมือและเฝ้าระวังกันด้วย
เป็นที่น่าสนใจถึงการแจ้งให้ดำเนินการเพื่อรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น เป็นการแจ้งซ้ำๆเหมือนกันทุกปี นั่นเป็นนโยบายที่จะให้มีการเตรียมความพร้อมในการบรรเทาภัย ซึ่งในส่วนราชการก็ไม่น่าห่วงและไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นเรื่องที่พร้อมและเตรียมการอยู่แล้ว แต่ในส่วนของประชาชนที่อาจเป็นผู้รับภัยเล่า.......มีการแนะนำให้เขาทำอย่างไรบ้างหรือเปล่า เมื่อน้ำหลากน้ำท่วมให้ยกของหนีเอาไปไว้ในที่สูงให้มีการอพยพให้พ้นน้ำท่วม นั้นเป็นการแก้ปัญหาเมื่อเกิดภัยแล้ว ก่อนหน้านั้นให้ทำอย่างไร.... ให้คอยรับฟังข่าวและประกาศจากทางราชการ!ได้มีการบอกหรืออธิบายลงรายละเอียดบ้างไหมว่าชาวบ้านควรทำอะไร เมื่อได้รับแจ้งก่อนภัยมา โดยเฉพาะที่จะให้เขารู้ล่วงหน้าว่าในบ้านเขา ในพื้นที่ของเขาจะเกิดภัยอะไรขึ้น จะเกิดเมื่อไร จะรุนแรงไหม เพื่อเขาจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูก ประกาศจากส่วนกลางก็จะเป็นประกาศกว้างๆบอกฝนจะตก ฟ้าจะร้อง ในภาคนั้นในจังหวัดนั้น และเมื่อฝนมาเป็นภัยก็ไม่ได้ทำให้เกิดภัยทั้งจังหวัด จะเกิดเฉพาะพื้นที่ตามที่ลุ่ม ตามหุบ ตามลำห้วย ซึ่งคนในพื้นที่จะรู้ดี ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงว่าเขาควรจะประเมินความเสี่ยงต่อภัยพิบัติในพื้นที่ของเขาอย่างไร
เรื่องการประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบโดยเฉพาะกรณีน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน บางกรณีไม่มีฝนตกในพื้นที่บ้านของตนเองเลย แต่มีฝนตกบนภูเขาสูงซึ่งเป็นต้นน้ำของลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ฟ้ามืดฝนตกอยู่หลายชั่วโมงแล้วอีกไม่นานน้ำในป่าก็จะทะลักลงมาตามลำห้วยเข้าท่วมบ้านเรือน หนีน้ำท่วมกันไม่ทันหรือหากหมู่บ้านอยู่ในที่ลุ่มริมลำห้วย น้ำก็จะมารวมกัน ณ ที่นั้นจำนวนมาก เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เอ่อล้นเข้าท่วมแปลงพืชผลและบ้านเรือน และอาจท่วมค้างอยู่นานวัน กรณีอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆโดยเฉพาะหมู่บ้านบนเนินลาดเชิงเขา ซึ่งน้ำจะหลากลงมารุนแรงตามลำห้วยหรือพื้นที่ลาดนอกลำห้วย ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ในที่ราบลุ่มก็จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากฝนในพื้นที่และน้ำเอ่อจากลำห้วย ถ้าเป็นพื้นที่กลางน้ำหรือปลายน้ำ ภาพเช่นที่กล่าวมานี้จะต้องมีการประเมินตามหมู่บ้านต่างๆอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นและนักวิชาการในพื้นที่แนะนำให้คนในชุมชนเข้าใจ จัดอาสาสมัครประจำหมู่บ้านเพื่อเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะมีผลต่อภัยอันอาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะฤดูฝนนี้เขาว่าจะมีฝนมาก อาจมีอุทกภัยเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆครับ
โดยปกติแต่ละชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเขาตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว ผู้นำชุมชนรู้เรื่องและมีข้อมูลอยู่แล้ว ขออย่างเดียวคือการสนับสนุนของทางราชการ อย่างน้อยก็การแนะนำทางวิชาการ การจัดการและสนับสนุนอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องใช้ในการเก็บข้อมูลและประเมินความเสี่ยงเพื่อรู้ตัวล่วงหน้า เรื่องการประเมินพื้นที่เสี่ยง สามารถดำเนินการไว้ก่อนได้และคอยปรับแก้ให้เป็นปัจจุบันไปตามเหตุการณ์ ไม่ต้องรอหนังสือสั่งการจากหน่วยเหนือ พร้อมที่จะป้องกัน-บรรเทาภัยได้ทันที….เจ้าหน้าที่ราชการมาอยู่ชั่วเวลาหนึ่งและก็ย้ายไป แต่ประชาชนเขาอยู่ที่นั้นชั่วลูกหลาน เขาควรต้องอยู่อย่างปลอดภัยนะครับ
............................................
บทความโดย พลเรือเอกเกาะหลัก เจริญรุกข์
ตำแหน่ง: ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯ
รูปภาพประกอบ
วิดีโอประกอบ