
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
ความเป็นมา
_____ประเทศไทยจัดว่าเป็นพื้นที่หนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซี่งในแต่ละปีต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาตินานัปการ แต่ละปีมีความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินนับไม่ถ้วน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยพิบัติเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของประเทศเกิดจิตสำนึกและความตระหนักรู้ เตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันเหตุการณ์ ทันต่อเวลา และลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติลงได้
_____“ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ก่อกำเนิดขึ้นอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิในภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยร้ายแรงที่สุด รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการเตือนภัยล่วงหน้า จึงได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาระบบการเตือนภัยล่วงหน้าขึ้น ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 16/2548 ลงวันที่ 11 มกราคม 2548 และคณะกรรมการศึกษาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ได้มีคำสั่งที่ 17/2548 ลงวันที่ 8 เมษายน 2548 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้น โดยมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการระบบการเตือนภัย ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการเตือนภัย การบริหารและควบคุมการปฏิบัติงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ.2548 กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “กภช” โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน กรรมการเป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง/กรมที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “ศภช.” เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ในฐานะเป็นฝ่ายปฏิบัติและเลขานุการของ “กภช” อยู่ภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในระยะแรกมีสำนักงานเดิมตั้งอยู่บนถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โดยจัดให้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548
_____ต่อมาได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2548 และระเบียบฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงฯ พ.ศ. 2551 และสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้มีคำสั่งที่ 663/2552 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 กำหนดการแบ่งส่วนราชการภายใน ศภช. ออกเป็น 4 กลุ่มงาน 1 ศูนย์ และ 1 ฝ่าย และตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ชั้น 6 อาคารรัฐประศาสนภักดี และมีศูนย์ปฏิบัติการที่บางนาภายในบริเวณเดียวกันกับกรมอุตุนิยมวิทยา และท้ายสุดพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 มาตรา 18 และ 19 ให้โอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีของสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลัง เฉพาะศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปเป็นของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
_____ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีที่ตั้งอยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถ.อู่ทองนอก และมีศูนย์ปฏิบัติการที่บางนาภายในกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นอาคารสถานที่หน่วยปฏิบัติการโดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ผลัดเวรกันอยู่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง