24/2/2565
วันนี้ (23 ก.พ.65) เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และนายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อร่วมกันพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำหรับเป็นเครื่องมือและกลไกบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศแบบครบวงจร โดยมีนายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้บริหาร ปภ. และ สทอภ. เข้าร่วมพิธีฯ
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำลังก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นหน่วยงานกลางในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณภัย ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในวันนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงานที่ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายและให้การสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกันมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเริ่มต้นของความร่วมมืออย่างเป็นทางการของทั้งสองหน่วยงานที่จะร่วมกับขับเคลื่อนการจัดการสาธารณภัยบนฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์ภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่าและหมอกควัน และตัดสินใจในการบริหารจัดการกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นหรือใกล้จะเกิดขึ้นมีความชัดเจนและแม่นยำยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถวางแผนการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากรและเครื่องจักรกลสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อการปฏิบัติการทั้งในมิติห้วงเวลาและพื้นที่
นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กล่าวว่า การบูรณาการฐานข้อมูลทั้งข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลด้านสาธารณภัย จะทำให้สามารถนำไปวิเคราะห์เข้าด้วยกัน เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ตั้งแต่ระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย รวมถึงนำข้อมูลไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักในทุกภาคส่วนด้วยเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลสถิติสาธารณภัยในปัจจุบันพบว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น สทอภ. จึงได้ตระหนักและมุ่งผลักดันการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาสนับสนุนในการบริหารจัดการกับสถานการณ์สาธารณภัยของประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ผลกระทบ และความเสียหายจากสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับความร่วมมือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในครั้งนี้เป็นกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยน ส่งเสริมและสนับสนุนข้อมูล เพื่อนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาเป็นเครื่องมือและกลไกในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย เพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ อาทิ ไฟป่า อุทกภัย ภัยแล้ง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ธรณีพิบัติ เป็นต้น รวมถึงการตรวจสอบสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางทะเลและชายฝั่ง โดยในกรณีที่เกิดเหตุสาธารณภัย ปภ. จะให้การสนับสนุนข้อมูลด้านสาธารณภัย อาทิ สถิติการเกิดภัยในพื้นที่ต่างๆ ตามประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย และข้อมูลจากรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยตามประเภทของภัยต่างๆ ที่ได้รวบรวมไว้ รวมทั้งข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ความเสียหายที่เกิดขึ้น และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ สทอภ. โดยเชื่อมต่อข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น APIs (Application Programming Interface) ขณะที่ สทอภ. จะได้ให้การสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศที่อยู่ในคลัง (Archive) ที่ สทอภ. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่คิดมูลค่า รวมถึงข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า ให้แก่ ปภ. นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการสาธารณภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการป้องกันและลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที//////////